ภาพในอดีต
เมื่อปี พ.ศ.2538 และ 2539 มีการพูดเรื่องไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในเอเชียอยู่ตลอดเวลา โดยใช้คำศัพท์ว่า “ นิคส์” (NIC หรือ Newly Industrial Country ) ขณะนั้นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พยายามที่จะชี้นำสังคมว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น ไม่ควรเน้นเหมือนดังเช่นแผนฯ 1 – แผนฯ7 เพราะเป็นจุดที่สังคมมั่งสู่ความไม่พอเพียง ไม่พอดี ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยในขณะนั้น
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 8 เน้นไปที่ 2 เรื่องหลัก คือ “การพัฒนาคน” และ “ การมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นการจุดประกายของการสร้างภูมิคุ้มกัน อันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของสภาพัฒน์ คือ เปลี่ยนเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มีจุดนำ ว่า ประเทศชาติควรจะวางจุดนำหรือจุดร่วมของประเทศชาติอย่างไร
แต่ แผนฯ8 ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างด้านการเงินระหว่างประเทศ และการที่เราลงทุนเกินตัว มีการใช้กระดาษ(ไม่ใช่เงินจริง แต่เป็นสัญญาเงินกู้) ในการที่จะสร้างรายได้ ทำให้พอมีการเริ่ม แผนฯ 8 ปรากฏว่าไม่ใช่คนไทยที่เข้ามาชี้นำการพัฒนา เพราะในระหว่าง ปี พ.ศ.2540 – 2544 รัฐบาลในขณะนั้นได้ทำหนังสือแจ้งความจำนงขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ดังนั้นไอเอ็มเอฟจึงเข้ามาจัดการแม้กระทั่งระบบภาษี
เพราะฉะนั้น ในแผนฯ 8 สิ่งที่เราไม่คาดคิด ก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจ เราต้องเข้าสู่ระบบไอเอ็มเอฟ คือ ไม่ใช่เราไปก็เขา แต่เขาบังคับให้เราต้องกู้ ดังนั้นจึงเป็นจุดสำคัญที่แผนฯ 8 ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ เพราะถูกควบคุมระบบจากไอเอ็มเอฟ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9
พอหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ทรงพยายามจะให้คนเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้พระราชทานย้ำเช่นนั้นในช่วง 2 – 3 ปีต่อมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการร่างแผน ฯ 9 สภาพัฒนฯขณะนั้น ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นนิยาม “ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลฯขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำบทความไปเผยแพร่ ซึ่งพระองค์ได้ทรงปรับปรุงแก้ไขแล้วพระราชทานให้เผยแพร่แก่ประชาชน
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10
ต่อมาในปี พ.ศ.2547 สภาพัฒน์ในขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดหลัก แต่ต้องขยายความคิดเหล่านี้ลงไปในกระบวนการ โดยยึดหลักที่ “ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” อย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นมากในแผนนี้ คือ อยากเห็นเรื่องของ การดูที่องค์รวม การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขของสังคมและการดูเรื่องของตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพมากกว่า เชิงปริมาณ เพราะฉะนั้น แผนฯ 10 จึงเน้นที่ “กระบวนการ” ไม่ใช่ “แผนงาน” ( จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง…สู่การปฏิบัติ , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2551 )
องค์ประกอบหลัก
องค์ประกอบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ และ 2 เงื่อนไข ดังนี้
3 ห่วง ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทานั้นๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
2 เงื่อนไข ประกอบด้วยเงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม
เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนาความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
พระราชดำรัส
“ บางคนพูดบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ได้ ได้ยินคนเค้าพูด แต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ขอย้ำว่า เป็นการทั้งเศรษฐกิจ หรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผล โดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือ สิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่า มีประสิทธิผล ดีแปลว่า มีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข “
( พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2543 )
จากที่ผู้เขียนยกกล่าวอ้างมาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาฯนี้เป็นวิถีทางในระบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่กล่าวว่าทุกสิ่งย่อมเกิดมาแต่เหตุ เพียงแต่ปัญญาของมนุษย์นั้นยังไม่ละเอียดลึกเพียงพอที่จะหาเหตุนั้น สอดคล้องกับคำตรัสขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านตรัสรู้อริยสัจสี่มาประมาณ 2500 กว่าปี ที่ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์อย่างย่อมเกิดมาแต่เหตุ ถ้าดับเหตุลงได้ทุกข์ย่อมไม่เกิด และการดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ใช่แค่ดำริ แค่นึก แล้วทุกข์จะดับลง ซึ่งทุกข์ในวันนี้ เราเรียกว่าปัญหา
ทุกข์ย่อมเกิดมาแต่เหตุ
ปัญหาทุกอย่างย่อมเกิด ขึ้นจากเงื่อนไของค์ประกอบของสาเหตุ ต่าง ๆ ถ้าเราสามารถทำความคิดความเห็นให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงในเหตุผล จนรู้วิธีที่จะกระทำเหตุได้อย่างถูกฝาถูกตัวและทำอย่างพอเหมาะพอประมาณ ผลที่ตามมาก็ย่อมจะนำไปสู่การคลี่คลายของปัญหาทั้งหลาย
เมื่อปัญหาต่าง ๆได้รับการแก้ไขอย่าง ถูกต้องเที่ยงตรง ตามเหตุและผล ให้มาก พอเพียง จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่เป็นจุดมวลวิกฤติ ของความเปลี่ยนแปลง ระบบภูมิคุ้มกันในตัว ต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดขึ้นจาก การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ก็จักเกิดขึ้นตามมาโดยอัตโนมัติ ( แนวปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียงฯ. สุนัย เศรษฐบุญสร้าง. ก.พ. 2550 )
เมื่อปัญหาต่าง ๆได้รับการแก้ไขอย่าง ถูกต้องเที่ยงตรง ตามเหตุและผล ให้มาก พอเพียง จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่เป็นจุดมวลวิกฤติ ของความเปลี่ยนแปลง ระบบภูมิคุ้มกันในตัว ต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดขึ้นจาก การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ก็จักเกิดขึ้นตามมาโดยอัตโนมัติ ( แนวปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียงฯ. สุนัย เศรษฐบุญสร้าง. ก.พ. 2550 )
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลาดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (อ้างถึงจากhttp://www.bloggang.com/mainblog.php?id=merveillesxx&month=29-12-2004&group=4&gblog =21)
และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำเน้นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง(จากหนังสือเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรจัดทำ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมห่งชาติ)
พระราชดำรัส
“ ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฏี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ “
( พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2543 )
ในอดีตที่ผ่านมา มีตัวอย่างของโครงการมากมายหลายต่อหลายโครงการที่เรานำความรู้มาใช้ในการพัฒนาอย่างไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง และไม่รอบรู้ ผลก็คือ ความรู้ดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาของผู้คนในบางมิติ แต่ก็กลับไปสร้างปัญหาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอีกบางมิติ เช่น การพัฒนาภาคเกษตรโดยนำปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาช่วยเร่งผลผลิตทางการเกษตร ถึงแม้ผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นตามเป้า แต่สารเคมีทางการเกษตรก็ไปทำลายดินและสิ่งแวดล้อมจนส่งผลเสียในระยะยาวตามมา
ดังนั้นนอกจากอาศัยความรู้แล้ว ก็ต้องอาศัยคุณธรรมจริยธรรมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการปฏิบัติในขั้นตอนนั้น ๆ เข้ามาใช้ควบคู่กันไปด้วย จึงจักสามารถช่วยให้การประพฤติปฏิบัติตามเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบรรลุผลตามความมุ่งหมาย
ฉะนั้น “ ความรู้คู่คุณธรรม” จึงเปรียบเสมือน “ร่างกายกับจิตใจ” ที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นองค์ประกอบสำคัญพื้นฐาน สำหรับการพัฒนาให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ตามแนวทางแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะขาดองค์ประกอบด้านในด้านหนึ่งไปไม่ได้ ดังพระบรมราโชวาทที่ทรงชี้ให้เห็นว่า
พระราชดำรัส
“ การสร้างความสำเร็จในกิจการงานทุกอย่าง ทุกระดับ รวมทั้งความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนด้วยนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประกอบกันถึงสามส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ ความรู้และความชำนาญทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานหรือเป็นเครื่องปฏิบัติงานแท้ ๆ ส่วนที่สอง คือ ความละเอียดถี่ถ้วน ความตั้งใจ และความอุตสาหพยายาม ซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้ทำการได้ไม่ผิดพลาดบกพร่องและสำเร็จลุล่วงได้ตลอด ไม่ทิ้งขว้างละวางเสียกลางคัน ส่วนที่สามนั้น ได้แก่ สติระลึกรู้ตัว และปัญญาความรู้ชัด หรือความเฉลียวฉลาดที่จะหยุดคิดพิจารณากิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่าง ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงตามกระบวนการของเหตุผล ซึ่งจะช่วยให้ดำเนินชีวิต และการงานไปในทางเจริญ “
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง:22ธันวาคม 2520)
พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม 4 ประการ
เนื่องจาก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น “สังคมฐานปัญญา” นั้น มีเนื้อหาที่ลุ่มลึกและค่อนข้างเป็นนามธรรม อันส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถพัฒนาวิธีการที่จะประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นขั้นตอน เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของปรัชญาการพัฒนาดังกล่าวได้
ในขณะที่พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม 4 ประการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระราชดำรัสในวาระสำคัญยิ่งของพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2525 และมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมาก่อนหน้านี้นั้น ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เป็นกระบวนการทางปัญญาชุดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อันสามารถจะประยุกต์พัฒนาให้เป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยศักยภาพทางปัญญาของผู้คน เพื่อนำไปสู่การสร้าง “สังคมฐานปัญญา” ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เนื้อหาของคุณธรรม 4 ประการตามพระราชดำรัสดังกล่าว ได้แก่
พระราชดำรัส
“ คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่สี่ประการ
ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจ ต่อตัวเอง ที่จะประพฤติแต่สิ่งที่
เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความ
สัจความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจ
สุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วน
น้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
( พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า งานเฉลิมสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ณ พลับพลาพิธีท้องสนามหลวง วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2525)
คุณธรรม 4 ประการ เริ่มต้นข้อแรกด้วยการประพฤติปฏิบัติ “สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม” ซึ่งการที่จะปฏิบัติใน “สิ่งที่เป็นประโยชน์” ได้อย่างเหมาะสม ก็ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ดำเนินการในทุกขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง ขณะเดียวกันการจะปฏิบัติ “สิ่งที่เป็นธรรม” ได้ ก็ต้องอาศัยความสำนึกในคุณธรรมต่าง ๆ เป็นกรอบการทำงานควบคู่ไปด้วย
ผลที่สุดทิศทางของการปฏิบัติ “สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นธรรม” นั้นๆ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแข็งแรง มีความพอดีพอประมาณบนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล อันจะก่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มกระทบ ซึ่งก็คือสารัตถะสำคัญแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการพัฒนาเงื่อนไขคุณธรรมของข้าราชการ
เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีเงื่อนไขพื้นฐานคือความรู้คู่คุณธรรม คำว่า คุณธรรม(Virtue) นั้น พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2530 ให้ความหมายไว้ว่า สภาพคุณงามความดี ใน http://www.pharm.chula.ac.th/ethic/sub_content/1net11.htm) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ คุณธรรมหมายถึง สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ เช่น ความเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จโดยหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง คำว่า คุณ ภาษาบาลี แปลว่า ประเภท,ชนิด ธรรม หมายถึง หลักความจริง หลักการในการปฏิบัติ ดังนั้น อาจอธิบายได้ว่า คุณธรรม คือ จริยธรรมที่แยกเป็นรายละเอียดแต่ละประเภท เช่น เมตตา กรุณา เสียสละ ซื่อสัตย์ อดทน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากผู้ใดประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจของผู้นั้น”
การที่จะให้เกิดคุณธรรมดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ข้าราชการ ซึ่งในที่นี้หมายถึงข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสังคม และจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเงื่อนไขคุณธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการให้จงได้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นผลสำเร็จ
การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ
การขับเคลื่อนจะแยกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับรัฐบาล ที่ขับเคลื่อนในภาพรวมทั้งระบบในภาครัฐ ระดับหน่วยงาน ที่มุ่งให้ในแต่ละส่วนราชการกำหนดกลยุทธ์/โครงการ/นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ระดับบุคคล คือข้าราชการแต่ละคนจะต้องมุ่งเน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ คุณธรรม และจริยธรรม ให้หยั่งรากลึกลงไปในมโนจิตจนเป็นพฤตินิสัย เพื่อสร้างศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งชีวิตของตน ( วาระแห่งชาติฯ , 18 ธันาคม 2549: 11)
ยุทธศาสตร์สำคัญของภาครัฐ
ยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินการได้แก่
1. การยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐ โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ
ก. การจัดตั้ง “สภาพธรรมาภิบาลแห่งชาติ”
ข. การจัดตั้งองค์กรสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาครัฐ ได้แก่ สำนักส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลภาครัฐ
2. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในระดับองค์กรและระดับบุคคล ด้านคุณธรรม จริยธรรม และ ธรรมาภิบาลในภาคราชการ เพื่อผลักดันให้เกิดองค์การสุจริตธรรมที่มีศักดิ์ศรี ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ก. การสร้างกลุ่มผู้นำและผลักดันให้เกิดองค์การแห่งสุจริตธรรม
๑. โครงการพัฒนาผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คุณธรรม และจริยธรรมในภาครัฐ(สนง.ก.พ.)
๒. โครงการสร้างองค์การต้นแบบในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม (สนง. ก.พ.ร.)
ข. การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาข้าราชการ
๑. โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่(สนง. ก.พ.ร.)
๒. การดำเนินการพัฒนาข้าราชการบรรจุใหม่ของระบบราชการพลเรือนอย่างเป็นระบบ
ค. การให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และ ธรรมาภิบาล
๑. โครงการส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้และการปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล (สนง.ก.พ.ร.)
๒. การวางระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจริยธรรม
ง. การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของ
๑. การส่งเสริมความเข้มแข็งการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (สนง.ก.พ.)
๒. การจัดทำสมุดพกข้าราชการ/บนทึกผลงานและคุณงามความดี(ทุกส่วนราชการ)
จ. การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล
๑. การพัฒนาตัวชี้วัดจริยธรรม (สนง. ก.พ.ร.)
๒. การแต่งตั้งและพัฒนาผู้รับผิดชอบด้านจริยธรรมในส่วนราชการ(สนง. ก.พ.ร.)
ฉ. การวัดผลและการตรวจสอบด้านจริยธรรม
๑. การจัดทำแบบประเมินตนเอง(สนง. ก.พ.)
๒. การเสริมความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำกระทรวง (สนง. ก.พ.)
( ที่มี : ประมวลจากวาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องการการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ, 2549)
สรุป
ความพยายามส่งเสริมคุณธรรมแก่ข้าราชการมีมาตามลำดับอย่างต่อเนื่อง แต่การได้ผลจริงในทางปฏิบัติยังไม่เป็นที่น่าพอใจ การกำหนดวาระแห่งชาติ เป็นอีกทางหนึ่งของความพยายามที่จะต้องติดตามผลการนำยุทธศาสตร์และโครงการต่าง ๆ ไปปฏิบัติต่อไป ข้อเสนอแนะข้อหนึ่ง คือ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนของแต่ละโครงการหรือกิจกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติงบประมาณซึ่งมีจำกัดด้วย บางโครงการเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในทันที เพราะใช้งบประมาณไม่มาก และมีพื้นฐานการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ควรที่มีการเสนอการจัดลำดับอีกรูปแบบหนึ่งเพิ่มเติม โดยจัดลำดับตามประสิทธิผลต่อการส่งเสริมคุณธรรมที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจากโครงการนั้น ๆ ซึ่งก็คือการนำเทคนิคการวิเคราะห์โครงการมาใช้นั้นเอง จากนั้นจึงจัดทำแผนระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งจัดเตรียมงบประมาณให้สอดคล้องกัน และมีการประเมินผลซึ่งเชื่อมโยงกับการให้รางวัลและลงโทษเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการดำเนินการให้แก่หน่วยงานรับผิดชอบหลักที่รับผิชอบโครงการ/กิจกรรม เพื่อให้การดำเนินการเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เป็นพื้นฐานที่แข็งแรงสำหรับที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป บางครั้งมีการดำเนินการที่เข้มแข็งแต่เพียงระยะแรก จากนั้นก็เงียบหายไปจากความสนใจ เนื่องจากขาดงบประมาณและความสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เรื่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่สูญเปล่าและน่าเสียดายเวลาที่เสียไปเป็นอย่างยิ่ง
บรรณานุกรม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.....สู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : เพชรรุ่งการพิมพ์. ๒๕๕๑.
สุนัย เศรษฐบุญสร้าง. แนวทางปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง จากแนวปฏิบัติสู่แนวคิดทางทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ : บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น. ๒๕๕๐.
ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารการพัฒนา. กรุงเทพฯ : 2551.
ขอบคุณค่ะ เป็นข้อมูลที่ดี มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของนิสิตนักศึกษามาก
ตอบลบขอบคุณค่ะ เป็นข้อมูลที่ดี มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของนิสิตนักศึกษามาก
ตอบลบ